ข้าราชการไทยข่าวทั่วไปข่าวพาดหัวตรวจสอบ

ประจวบฯ-ตรวจสอบกรมโยธาธิการฯ หลังโป๊ะแตกเจอรายงาน IEE กำแพงกันคลื่นงบ 97 ล้านหาดแม่รำพึงบางสะพาน สอดไส้ข้อมูล จ.สงขลา 12 หน้า

จี้ สตง. ปปช.ตรวจสอบกรมโยธาธิการฯ หลังโป๊ะแตกเจอรายงาน IEE กำแพงกันคลื่นงบ 97 ล้านหาดแม่รำพึงบางสะพาน สอดไส้ข้อมูล จ.สงขลา 12 หน้า
.
วันที่ 16 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก Beach for life โพสต์ภาพพร้อม ข้อความระบุว่า หลังจากประชาชน Saveหาดแม่รำพึงบางสะพาน ทำหนังสือขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน ระยะที่ 1 ความยาว 966 เมตร งบประมาณ 97 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังจากที่กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง ได้รับรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE) และได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในรายงาน พบว่า ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง พบข้อความและข้อมูลในบทที่ 3 ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน หน้าที่ 3-218 ถึง 3-230 จำนวน 12 หน้า เป็นข้อมูลของจังหวัดสงขลาทั้งหมด แต่อยู่ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง จ.ประจวบฯ

กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง ระบุว่า รายงานฯ ดังกล่าวจัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งว่าจ้างบริษัทเอกชน เป็นบริษัทที่ปรึกษาของกรมฯ ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562 เมื่อได้เห็นข้อมูล ซึ่งเป็นของ จ.สงขลา ทั้งๆที่เป็นรายงานการศึกษาของหาดแม่รำพึง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการตัดแปะข้อมูล ลอกการศึกษาจากพื้นที่อื่นมาใส่ในรายงาน ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ สะท้อนความไม่โปร่งใส่ในการดำเนินการศึกษาและการดำเนินโครงการของกรมฯและมีข้อสังเกตต่อไปว่า อาจเป็นไปได้ว่าในรายงานฉบับนี้ อาจมีข้อมูลในส่วนที่สำคัญเกี่ยวกับการวิเคราะห์และออกแบบโครงการที่ลอกข้อมูลจากพื้นที่อื่นๆมาใส่โดยไม่ได้ทำการศึกษาในพื้นที่โครงการจริงๆ ซึ่งทำให้รายงานฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม

นายอภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนกลุ่ม Beach for life มีความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีการตรวจสอบรายงานการศึกษา IEE กำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง โดยภาคประชาชน แล้วพบว่า ข้อมูลที่ระบุในรายงานเป็นการคัดลอก ตัดแปะข้อมูลจากพื้นที่อื่น สะท้อนให้เห็น ความไม่โปรงใส่ ไม่ชอบธรรมของกรมฯในกรณีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดแม่รำพึง และกรณีนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้ขาดการตรวจสอบข้อมูลในรายงานการศึกษา เพราะปกติแล้วหากโครงการในลักษณะนี้ต้องทำรายงาน EIA ก็จะผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในด้านความถูกต้องของการศึกษา ทำให้ความรอบครอบในการดำเนินโครงการ แต่เมื่อไม่ต้องทำ EIA ทำให้รายงานแบบกรณีหาดแม่รำพึง ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในกรณีหาดแม่รำพึง กรมฯ ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ควรที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไป เนื่องจากรายงานการศึกษามีข้อผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด
มีรายงานว่า หลังจากนี้ กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง จะเร่งตรวจสอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ต่อไป และหวังว่าหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการของรัฐ อาทิ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรรมาธิการ และ ปปช. หรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะดำเนินการตรวจสอบโครงการนี้ของกรมฯอย่างใกล้ชิด /////
พิสิษฐ์รื่นเกษมข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โทร 099 339 6444