แพทย์ทหารเตือน “ลุยน้ำท่วมขัง เสี่ยง โรคไข้ฉี่หนู…ภัยร้ายอันตรายหน้าฝน”
แพทย์ทหารเตือน “ลุยน้ำท่วมขัง เสี่ยง โรคไข้ฉี่หนู…ภัยร้ายอันตรายหน้าฝน”
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เลปโตสไปร่า (Leptospira) ซึ่งพบในปัสสาวะของสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู เป็นต้น เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือโดยการไชเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดหน้าฝนและโดยเฉพาะหลังน้ำลด พบผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในเกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะ ที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้
สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 40 – 49 ปี อาชีพที่พบมากที่สุดคือ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร ปัจจัยเสี่ยงส่วนมากพบในผู้ที่ลุยน้ำขัง ย้ำน้ำ หรือแช่น้ำนานๆ การดูแลป้องกันตนเอง เช่นการสวมใส่รองเท้าบูทขณะลุยน้ำ
อาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาและน่องอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ตาแดง บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปนหรือตัวเหลืองตาเหลือง มีเลือดออกในปอด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับวาย ไตวาย และอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ในการนี้ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และคณะแพทย์ทหาร มีความห่วงใยข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 จากโรคภัยดังกล่าว รวมทั้งพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอให้ป้องกันโรคฉี่หนู โดยการหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง เนื่องจากหนู หมู วัว และควาย เป็นต้น อาจจะมาปัสสาวะไว้ ทำให้มีปริมาณเชื้อเข้มข้น หลีกเลี่ยงการลุยน้ำที่ท่วมขังหรือโคลน พื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน หากต้องเดินย่ำน้ำตามตรอก ซอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่ ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือ หรือชุดป้องกัน
สำหรับเกษตรกรผู้สัมผัสมูลสัตว์ หรือสิ่งสกปรกควรล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องรักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่ ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ภายหลังจับต้องเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง ดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ หรือผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์ หากสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ให้สงสัยว่าเป็นโรคเลปโตสไปโรซิส (โรคไข้ฉี่หนู) อย่าซื้อยามารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ทันที
จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพภาคที่ 3 โดย โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชน ในยามวิกฤตทุกโอกาส
ปรีชา นุตจรัส รายงานข่าว