ลำปางเตรียมประชาวิจารณ์ทำอ่างเก็บน้ำแก้น้ำหลากหวั่นกระทบชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 2 , นายชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง และคณะผู้ศึกษา เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เพื่อประชุมร่วมกับ นางสาวสุมาลัย นวลศรี ปลัดอำเภองาว และ นายประหยัดสุวรรณโน นายก อบต.บ้านร้อง พร้อมด้วยแกนนำ และผู้แทนชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้าร่วมรับฟัง ในการติดตามความก้าวหน้าในงานศึกษา ความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ที่มีแผนจะสร้างขึ้นในพื้นที่ ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง
โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเมื่อปี พ.ศ.2537 นายอดิศักดิ์ ศักดิ์นภารัตน์ สมาชิกสภาจังหวัดลำปาง เขตอำเภองาว ได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่งาว ในพื้นที่ ต.บ้านร้อง อ.งาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโครงการไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2557 ราษฎรใน 5 ตำบลของ อ.งาว จ.ลำปาง ได้แก่ ต.บ้านร้อง ,ต.ปงเตา, ต.นาแก, ต.หลวงเหนือ และต.หลวงใต้ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในการเกษตร และการอุปโภค บริโภค และต้องการให้พิจารณาแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้พิจารณาดำเนินการในลักษณะของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งจะอยู่ในเขตพื้นที่ บ้านข่อย หมู่ 4 และบ้านท่าเจริญ หมู่ 9 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความสูงเขื่อน 44 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 826.64 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 15.7 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ตลอด 2 ฝั่งของลำน้ำงาว ประมาณ 8,477 ไร่ ค่าก่อสร้างประมาณ 433 ล้านบาท
ปัจจุบันโครงการดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โซน C ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาว ฝั่งซ้าย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง จังหวัดลำปาง จึงเข้าข่ายประเภท และขนาดของโครงการของหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการอนุรักษ์เพิ่มเติม (วันที่ 13 กันยายน 2537) และกลไกการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการต่างๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ที่ระบุให้โครงการอ่างเก็บน้ำ ที่มีพื้นที่โครงการที่อยู่ในป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้พื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ยังตั้งอยู่ในเขตพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 ทำให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอสำนักนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนก่อสร้างโครงการ สำหรับสถานะภาพในการศึกษา ได้ดำเนินการคัดเลือกตำแหน่งที่ตั้งโครงการ และกำหนดรายละเอียดของโครงการ รวมถึงอยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาว ฝั่งซ้าย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ปี 2564
อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของทุกฝ่าย คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2566 และจะสร้างผลประโยชน์ให้พื้นที่ อ.งาว ในด้านการเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูแล้ง และเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงในฤดูแล้ง ทั้งยังบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย ที่จะสามารถรองรับน้ำป่าในพื้นที่ได้อีกด้วย
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายวิชาการ พร้อมคณะ ยังได้ไปดูฝายห้วยแม่หยวก และพบชาวบ้าน หมู่ 4 และหมู่ 9 ตำบลบ้านร้อง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านต่างยินดีที่จะมีการสน้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่ ทั้งการอุปโภค และบริโภค และเพื่อการเกษตร ซึ่งไม่เพียงแต่โครงการดังกล่าว ที่จะสร้างอ่างเก็บนน้ำน้ำงาว แล้ว ยังจะมีการซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ถึง 7 แห่ง เพื่อเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ
จากนั้นทางคณะจึงเดินทางไปตรวจติดตามความก้าวหน้าของอ่างเก็บน้ำแม่อ้อน 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ชาวบ้านได้ขอพระกรุณาให้สร้างขึ้น ซึ่งทางโครงการชลประทานก็ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุ 19 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่อ้อน ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง เดินทางมารับฟังรายละเอียดของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล และทัศนคติต่อกรมชลประทานเรื่องการสร้างอ่าง
กานดาวดี เทพสุธรรม/ลำปาง