ข่าวทั่วไป

รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ตรวจเยี่ยมประเมินผลระบบบริหารจัดการน้ำเสียของเรือนจำอำเภอเทิง เตรียมความพร้อมก่อนรับพระราชทานอุปกรณ์การแพทย์ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข

รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ตรวจเยี่ยมประเมินผลระบบบริหารจัดการน้ำเสียของเรือนจำอำเภอเทิง เตรียมความพร้อมก่อนรับพระราชทานอุปกรณ์การแพทย์ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข

พลตรี กัลย์สรรค์ จันทรเสน ประจำฝ่ายที่ประทับ ปฏิบัติหน้าที่ รองผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน และหัวหน้าชุดประสานงานไตรโครงการ พร้อมด้วยข้าราชบริพารในพระองค์ฯ และคณะทำงานโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประจำ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียภายในเรือนจำอำเภอเทิง โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายเอนก ปันทะยม ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอเทิง, นายกิตติพงศ์ สาหร่าย ผบ.เรือนจำอำเภอเทิง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ

เรือนจำอำเภอเทิง เป็นหนึ่งในเรือนจำที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ซึ่งเป็นโครงการที่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นประธานกรรมการโครงการ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์ ความรู้ด้านสุขอนามัย เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปตามหลักมนุษยธรรม ตลอดจนจัดระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเรือนจำอำเภอเทิงเป็นเรือนจำที่รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 2

เรือนจำอำเภอเทิงเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 อยู่ในเขตพื้นที่บ้านห้วยระเมศ หมู่ 23 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีอาณาเขตภายในกำแพง 17 ไร่ 71 ตารางวา อาณาเขตนอกกำแพง 60 ไร่ อาณาเขตเรือนจำชั่วคราวห้วยระเมศ 122 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 200 ไร่ มีผู้ต้องขังในความดูแลจำนวน 1,472 คน ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคในแต่ละวันประมาณ 112,000 ลิตร

ปัจจุบันเรือนจำอำเภอเทิงใช้ระบบกำจัดน้ำเสียแบบบ่อเติมอากาศ (Aereted Lagoon หรือ AL) เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เติมออกซิเจนจากเครื่องเติมอากาศ (Aeretor) ที่ติดตั้งแบบทุ่นลอยหรือยึดติดกับแท่นเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับสารจุลินทรีย์ (EM) สามารถนำไปใช้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้เร็วขึ้นกว่าการปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ทำให้เรือนจำอำเภอเทิงสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดความสกปรกของน้ำเสียในรูปของค่าบีโอดีได้ (Biochemical Oxygen Demand : BOD) ร้อยละ 80-85 โดยอาศัยหลักการทำงานของจุลินทรีย์ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน (Aerobic)

บ่อบำบัดน้ำเสียของเรือนจำอำเภอเทิงมีจำนวน 2 บ่อ บ่อแรกมีขนาด 25x25x10 เมตร บ่อที่ 2 มีขนาด 25x30x10 เมตร น้ำที่มาจากภายในเรือนจำจะนำมาพักที่บ่อดักไขมันซึ่งเป็นบ่อที่ 1 ในระบบบำบัดน้ำเสีย และน้ำจากบ่อดักไขมันจะไหลไปรวมกันที่บ่อดักขยะและตะกอน น้ำที่ได้จะไหลรวมกันที่บ่อดักที่ 2 เพื่อนำไปเพิ่มจุลินทรีย์และอัดออกซิเจน เมื่อได้น้ำที่ล้นออกจากบ่อจำไหลกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยผ่านการกรองจากชั้นดินและหญ้าอีกขั้นตอนหนึ่งก่อนจะไหลไปยังชุมชน และน้ำที่ผ่านการบำบัดส่วนหนึ่งจะใช้ปั้มน้ำสูบไปยังบ่อกักเก็บน้ำที่เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยระเมศ ซึ่งสามารถรองรับน้ำที่ผ่านการบำบัดได้ 160,000 ลิตร สำหรับใช้ในการเกษตรภายในเรือนจำ

ผลการประเมินระบบการบำบัดน้ำเสียของเรือนจำอำเภอเทิงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยทางคณะทำงานได้แนะนำให้ทางเรือนจำหมั่นดูแลสูบตะกอนก้นบ่อบำบัดน้ำเสีย งดการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำหรือสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งจะไปฆ่าจุลินทรีย์ในน้ำ ส่งผลให้การบำบัดน้ำไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร และนำเอาโซล่าเซลล์มาใช้เป็นพลังงานในการบำบัดน้ำเสียเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

การตรวจเยี่ยมประเมินผลในครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาที่จะมาพระราชทานอุปกรณ์การแพทย์ให้กับทางเรือนจำฯ ซึ่งคาดว่าจะมีกำหนดการพระราชทานภายในเดือน ตุลาคม 2563 นี้

ทีมตระเวนข่าวทั่วไทยนิวส์ รายงาน