ข่าวทั่วไป

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” จับมือ 2 รมช. “ดร.คุณหญิงกัลยา” และ”ดร.กนกวรรณ” พร้อมภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน เร่งเดินหน้านโยบายการศึกษาพิเศษ

 

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” จับมือ 2 รมช. “ดร.คุณหญิงกัลยา” และ”ดร.กนกวรรณ” พร้อมภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน เร่งเดินหน้านโยบายการศึกษาพิเศษ

ชูผลงาน 4 ภารกิจหลัก ภายใต้แนวทาง “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงภารกิจในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ชูผลงาน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน ปักหมุดค้นหาเด็กพิการที่ตกหล่น – จัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค – ช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษและมีนโยบายการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ โดยการศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ผานมากระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาพิเศษภายใต้แนวคิด “การศึกษาพิเศษไทย หัวใจนำทาง” ใน 4 ภารกิจหลักเร่งด่วน (Quick Win) ดังนี้

 

1. การปักหมุดค้นหาเด็กพิการที่ตกหล่นอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ นำเข้าสู่ระบบคัดกรอง ส่งต่อระบบการศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยให้ศูนย์การศึกษาพิเศษทุกจังหวัด ค้นหาเด็กพิการในวัยเรียนที่อายุไม่เกิน 18 ปี และยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง

2. การจัดทำคู่มือสื่อบัญชี ก-ข-ค ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ นำไปใช้ในการขอรับบริการและการขอยืมสื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ให้สอดล้องกับความต้องการของนักเรียน

3. เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้ไว้ในการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาล จึงสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลครอบคลุมทั่วประเทศใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่บุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพวัยเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจัดเป็นคนพิการทางการศึกษาประเภทบุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ ภารกิจหลักคือการช่วยเหลือเด็กเจ็บป่วยในระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เป็นระยะเวลานานจนไม่สามารถไปเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตามปกติ ให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องลาออกจากสถานศึกษากลางคัน

4. การสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจ เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสมากมายที่เข้ามาอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้ถูกบ่มเพาะด้วยความรักและแรงบันดาลใจของครู ทำให้เด็กก้าวข้ามคำว่าพิการหรือด้อยโอกาสจนประสบความสำเร็จ

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า การศึกษาพิเศษถือเป็นส่วนที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติ และในทุกช่วงวัยเพื่อให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีคุณภาพ มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น ซึ่งการจะขับเคลื่อนการศึกษาพิเศษให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน คือการมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนานั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ และผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน

สุเทพ ลอยแก้ว/รายงาน